เผยแพร่: ปรับปรุง: โดย: ผู้จัดการออนไลน์
ตราด – กมธ.กิจการความมั่งคงฯ ลงพื้นที่ชายแดนบ้านท่าเส้น จ.ตราด ดูความพร้อมและอุปสรรคในการผลักดันให้เป็นจุดผ่านแดนถาวรแห่งที่ 2 หวังกระตุ้นการค้าและการท่องเที่ยวไทย-กัมพูชาแต่กลับเจอปัญหาเรื่องการล้ำแดนในหลายจุด ขณะเอกชนชี้หากเปิดได้กระตุ้นการค้าได้ถึง 1 แสนล้านบาทต่อปี
วันนี้ ( 9 ม.ค.) นายมนูญ สิวาภิมย์รัตน์ ประธานคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติ และการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วย พล.ต.ต.พลตำรวจตรีสพิศาลภักดีนฤนาถ รองประธานฯ และ นายศักดินัย นุ่มหนู สส.ตราด รวมทั้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจำนวน 15 คน ได้เดินทางลงพื้นที่ บ้านท่าเส้น ต.แหลมกลัด อ.เมืองตราด ซึ่งเป็นพื้นที่ติดต่อจุดผ่านแดนถาวรบ้านทมอดา ต.เวียงเวล อ.เวียงเวล จ.โพธสัต ของกัมพูชา
รวมทั้งลงพื้นที่จุดผ่อนปรนการค้าบ้านมะม่วง ต.นนทรี อ.บ่อไร่ ที่ติดอยู่กับจุดเนิน 400 อ.สัมรูด จ.พระตะบอง เพื่อดูความพร้อมและตรวจสอบปัญหาอุปสรรคในการเปิดจุดผ่านแดนถาวรแห่งที่ 2 ของ จ.ตราด ซึ่งมีเป้าหมายที่การพัฒนาด่านชายแดนไทย – กัมพูชาเพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจและประชาชน
โดยมี น.อ.สันติ เกษศรีพงศา ผู้บังคับหน่วยนาวิกโยธินตราด(ผบ.ฉก.นย.ตราด) ,นายธนัท โสวนะปรีชา ประธานหอการค้าจังหวัดตราด,นายวิมาน สิงหพันธ์ นายกสมาคมการค้าชายแดนไทยกัมพูชาด้านจ.ตราด , นายอำเภอเมืองตราด และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องร่วมให้การต้อนรับและให้ข้อมูลเรื่องการค้าชายแดนที่บริเวณช่องทางผ่านแดนบ้านท่าเส้น
น.อ.สันติ เกษศรีพงศา ผู้บังคับหน่วยนาวิกโยธินตราด เผยว่าปัจจุบันบ้านท่าเส้นเป็นเพียงช่องทางธรรมชาติ ที่ยังไม่มีฐานะเป็นจุดผ่อนปรนการค้าหรือจุดผ่านแดนที่อยู่ในความรับผิดชอบของทหารนาวิกโยธินทั้งหมด ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการผ่อนปรนให้ชาวกัมพูชาได้เดินทางเข้ามาซื้อขายสินค้าและรักษาพยาบาลเพื่อมนุษยธรรม แต่เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 จึงจำเป็นต้องปิดพื้นที่ไม่ให้มีการเข้าออก
ประกอบกับปัญหาเรื่องเขตแดนที่ยังไม่ชัดเจนและยังมีข้อพิพาทกันอยู่จำนวน 17 จุด ตลอดแนวชายแดนทั้งใน อ. บ่อไร่ และอ.เมืองตราด โดยเฉพาะในบริเวณบ้านทมอดา ที่มีการก่อสร้างอาคารล้ำเข้ามาในเขตสันปันน้ำ ซึ่งทหารนายวิกโยธิน ได้ทำหนังประท้วงไปแล้วและแม้ในบางส่วนจะได้รับตอบรับและแก้ไขในระดับพื้นที่แต่ก็ยังมีปัญหาใหญ่อีกหลายประการที่ยังไม่สามารถแก้ไขได้
“ ในส่วนของทหารไม่ขัดข้องในการที่จะเปิดเป็นจุดผ่อนปรนการค้าหรือจุดผ่านแดนถาวร แต่ต้องการให้ส่วนราชการชายแดนที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมกันทำงานในพื้นที่ชายแดนด้วยเพราะหากสามารถกระทำได้ก็จะเกิดผลดีต่อเศรษฐกิจของจังหวัดตราด ” ผู้บังคับหน่วยนาวิกโยธินตราด กล่าว
ด้าน นายธนัท โสวนะปรีชา ประธานหอการค้าจังหวัดตราด เผยว่าที่ผ่านมาภาคเอกชนต้องการที่ผลักดันให้มีการเปิดบ้านท่าเส้นเป็นจุดผ่านแดนถาวร เพื่อส่งเสริมการค้าและการท่องเที่ยวระหว่าง 2 จังหวัด และยังสามารถที่จะเดินทางไปยังจังหวัดอื่นๆในกัมพูชาได้ เนื่องจากบริเวณแห่งนี้ชาวกัมพูชานิยมใช้เป็นเส้นทางเดินทางเข้ามาใน จ.ตราด เพราะการเดินทางสะดวกและไม่ต้องอ้อมไปยังบ้านหาดเล็ก และที่ผ่านมาภาคเอกชนของ จ. ตราดก็มีร่วมมือที่ดีกับฝั่งโพธิสัต
เช่นเดียวกับ นายศักดินัย นุ่มหนู สส.จ.ตราด ที่บอกว่าการเปิดจุดผ่านแดนถาวรทั้งในส่วนบ้านท่าเส้นและบ้านมะม่วง เป็นความต้องการที่มีมานานของภาคเอกชนในพื้นที่และยังได้เคยเสนอเรื่องดังกล่าวไปยังจังหวัดตราด เพราะเห็นว่าจะเกิดผลดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสามารถสร้างรายได้เข้าประเทศและ จ.ตราดได้มาก แต่ที่ผ่านมากลับไม่มีความคืบหน้ามาก
ดังนั้นการเดินทางลงพื้นที่ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในครั้งนี้ก็เพื่อเข้ามารับฟังปัญหาเพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรได้ผลักดันให้เกิดความสำเร็จโดยเร็ว โดยจะให้แยกในเรื่องของความมั่นคงและการค้าออกจากกันเพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติโดยเร็วที่สุด
จากนั้นคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทยยุทธศาสตร์ชาติ ฯ ยังได้เดินทางเข้าพบ นายชำนาญวิทย์ เตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด พร้อมประชุมร่วมส่วนราชการและภาคเอกชนในพื้นที่ ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดตราดได้ให้ด่านศุลกากรคลองใหญ่และพาณิชย์จังหวัดตราด รายงานถึงมูลค่าการค้าระหว่าง จ.ตราดกับ 3 จังหวัดในประเทศกัมพูชาที่มีพื้นที่ติดกัน
โดยพบว่า อ. คลองใหญ่ ซึ่งมีจุดผ่านแดนถาวรบ้านหาดเล็กมีสินค้าส่งเข้าไปขายในประเทศกัมพูชาผ่านทาง จ.เกาะกง ในปี 2565 มากกว่า 3.3 หมื่นล้านบาท ขณะที่จุดผ่านผ่อนปรนการค้าบ้านมะม่วง และบ้านท่าเส้นมีมูลค่าการค้าในปี 2565 จำนวน 10.48 ล้านบาท (ตัวเลขด่านศุลกากร) แต่ตัวเลขจากพาณิชย์จังหวัดตราด
ขณะที่ นายชำนาญวิทย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด เผยว่าชาวจังหวัดตราดมีความพยายามและเรียกร้องให้มีการเปิดจุดผ่านแดนทั้ง 3 ด่าน ซึ่งหากสามารถเปิดเป็นจุดผ่านแดนถาวรได้ทั้งหมด จะทำ จ.ตราด มีมูลค่าการค้ามากถึง 1 แสนล้านบาท ส่วนในมิติด้านการท่องเที่ยวยังมุ่งผลักดันให้ จ.ตราดเป็นแหล่งท่องเที่ยวในระดับอินเตอร์
และนับจากนี้ทางจังหวัดจะเร่งเตรียมความพร้อมในเรื่องการสื่อสาร 3 ภาษา และสนับสนุนให้สายการบินบางกอกแอร์เวย์ ขยายรันเวย์เพื่อนำเครื่องบินขนาดใหญ่จำนวน 160 ที่นั่งเข้ามาลงในพื้นที่ รวมถึงการผลักดันให้มีการใช้ท่าเรืออเนกประสงค์ อ.คลองใหญ่ เป็นท่าเรือเพื่อขนถ่ายสินค้าและท่าเรือเพื่อการท่องเที่ยว ซึ่งจะทำให้ จ.ตราด มีประตูเชื่อมโยงเพื่อนบ้านมากถึง 5 จุด