เผยแพร่: ปรับปรุง: โดย: ผู้จัดการออนไลน์
จันทบุรี- สมาคมผู้ผลิตทุเรียนไทย อบรมการตัดแต่งผลทุเรียนรุ่นแรกภาคตะวันออกให้แก่ชาวสวนทุเรียนใน จ.ระยอง-จันทบุรีและตราด รองรับผลผลิตที่กำลังจะออกสู่ตลาด ชี้เฉพาะระยองที่เดียวจะมีผลผลิตทั้งปีมากถึง 1.5 แสนตัน วอนเกษตรกรไม่ตัดทุเรียนอ่อนหลังเวียดนามไล่บี้ตลาดไทยในจีน
วันนี้ ( 8 ม.ค.) สมาคมผู้ผลิตทุเรียนไทย ได้จัดกิจกรรมอบรมตัดแต่งผลทุเรียนรุ่นแรกของภาคตะวันออกให้แก่เกษตรกรชาวสวนทุเรียนใน จ.ระยอง-จันทบุรี-ตราด จำนวน 200 ราย เพื่อพัฒนาคุณภาพและสร้างมาตรฐานและความน่าเชื่อถือให้กับทุเรียนภาคตะวันออก ส่งเสริมให้เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนมีความตระหนักผลิตทุเรียนที่มีคุณภาพ
โดยมี นายโอภาส กว้างมาก รักษาราชการเกษตรจังหวัดระยอง เป็นประธานเปิดกิจกรรมอบรมฯ และมี นายพิทวัฒน์ อ่อนทองหลาง ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 6, นายบัญญัติ เจตนจันทร์ ส.ส.ระยอง และนายวสันต์ รื่นรมย์ นายกสมาคมผู้ผลิตทุเรียนไทย นำสมาชิกสมาคมฯ เข้าร่วมที่สวนแปลงปลูกทุเรียน”ต้นคู่เจ้จุ๋ม” บ้านเนินหย่อง ม.8 ต.วังหว้า อ.แกลง จ.ระยอง
ภายในกิจกรรมมีทั้งการบรรยายความรู้เรื่อง สรีระวิทยาของทุเรียนระยะต่างๆ, การตัดแต่งผลทุเรียน, การบำรุงรักษาผลทุเรียนให้ได้คุณภาพ, แนวทางการส่งออกทุเรียน, นิทรรศการองค์ความรู้ด้านการผลิตทุเรียน พร้อมทั้งกิจกรรมการสาธิตการตัดแต่งผลทุเรียน
โดยทุเรียนรุ่นแรกของภาคตะวันออกจะออกสู่ตลาดช่วงกลางเดือน เม.ย.2566 นี้ ประมาณ 30 % ส่วนรุ่นที่ 2 และ 3 จะออกสู่ตลาดห่างกันราว 25 วัน และคาดว่าผลผลิตทุเรียนจังหวัดระยอง ในปีนี้จะมีประมาณ 154,000 ตันมากกว่าปีก่อนที่มีประมาณ 142,000 ตัน
นายพิทวัฒน์ อ่อนทองหลาง ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 6 กล่าวว่าภาครัฐยังมีความกังวลในตัวเกษตรกรชาวสวนทุเรียนบางรายที่ไม่รักษาคุณภาพของทุเรียน และให้ความสำคัญที่ราคาในช่วงต้นฤดูกาลเท่านั้นขนทำให้มีกาาตัดทุเรียนอ่อนออกสู่ตลาด จนสร้างผลเสียให้ตลาดทุเรียนและภาพลักษณ์ของจังหวัด
” จึงอยากให้เกษตรกรตระหนักในเรื่องนี้ให้มากๆ โดยเฉพาะผลกระทบต่อการส่งออกไปต่างประเทศ ซึ่งจีนเป็นตลาดส่งออกใหญ่ ขอให้เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนรักษาคุณภาพ หรือมาตรฐานทุเรียนของตนเองให้ดี โดยเฉพาะมาตรฐานค่าความหวาน และเปอร์เซ็นน้ำหนักแป้งในทุเรียนขั้นต่ำที่เดิมกำหนดไว้ 32 เปอร์เซ็น แต่การส่งออกปีนี้ได้กำหนดเปอร์เซ็นต์แป้งไว้ที่ 35 เปอร์เซ็นขึ้นไป”
ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 6 ยังเผยอีกว่าจากนี้ไปจะมีการประชุมชี้แจงและรณรงค์ให้เกษตรกรได้รับทราบ รวมทั้งสนับสนุนให้มีการทำคิวอาร์โค้ดเพื่อให้ลูกค้าทราบแหล่งที่มาของทุเรียนด้วยซึ่งหากทำได้จะทำให้ทุเรียนอ่อนก็จะหมดไป
และเชื่อว่าจะยกระดับการส่งออกให้ดีขึ้นได้แม้เวียดนามจะเป็นคู่แข่งรายสำคัญของไทยที่ขณะนี้กลายเป็นผู้ปลูก หรือผู้ผลิตรายใหญ่ไล่หลังไทย โดยเฉพาะในฤดูกาลผลิตที่จะถึงนี้