วันที่ 8 กรกฎาคม 2564 เวลา 10.00 น. รายงานสถานการณ์โควิด-19 พื้นที่อุดรธานีว่า หลังจากมาตรการปิดแคมป์คนงานในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ทำให้อุดรธานี นำมาตรการ คัดกรองแรงงานมาจาก 22 จังหวัดเสี่ยงสูง มาตรวจหาเชื้อโควิด-19 ทั้งที่เดินทางมากับเครื่องบิน-รถไฟ-รถโดยสาร และการตั้งด่านค้นหาในรถส่วนบุคคล นำผู้ติดเชื้อเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล 282 ราย นำผู้ตรวจไม่พบเชื้อกักตัวในสถานที่รัฐจัดให้ 2,841 ราย สกัดกั้นไม่ให้เชื้อระบาดเข้าครอบคนรัว คนใกล้ชิด และชุมชน ขณะที่การแพร่เชื้อภายในมีเพียง 76 ราย
การค้นหาพบผู้ติดเชื้อล่าสุด (7 ก.ค.64) มี 42 ราย สะสม 967 ราย หายกลับบ้าน 562 ราย รักษาตัว 394 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย รวม 11 ราย ผู้เสียชีวิตเป็นหญิง อายุ 68 ปี ชาว ต.หนองแวง อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี มีอาชีพขายอาหารหน้าโรงงานย่านบางนา-ตราด ตรวจพบติดเชื้อใน กทม.นอนรอเตียงอยู่ 1 สัปดาห์ จึงขับรถยนต์ส่วนตัวกลับบ้านมาพร้อมกับ สามี และบุตรสาว 6 ก.ค.64 มาถึง รพ.บ้านผือ อาการหนักถูกส่งตัวมา รพ.ศูนย์อุดรธานี และเสียชีวิต ส่วนสามี และลูกสาวกักตัวอยู่ที่ อบต.หนองแวง
นายธีรภัทร์ ผิวสวัสดิ์ ป้องกันบรรเทาสาธารณภัย จ.อุดรธานี กล่าวว่า การเดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงสูง ส่วนใหญ่มาจากกรุงเทพฯและปริมณฑล เมื่อเดินทางมาจะถูกคัดกรอง ส่งมาที่ศูนย์โฮมฮักอุดรธานี (หอพักชาย มรภ.อุดรธานี) บางส่วนถูกตรวจหาเชื้อโควิด-19 และกักตัวอยู่ที่นี่ ส่วนใหญ่ถูกส่งไปตรวจหาเชื้อ และกักตัวที่ศูนย์ระดับอำเภอ ที่หลุดไม่ได้รับการคัดกรอง ก็จะมีกำนัน-ผญบ.-อสม. ค้นหาในชุมชนและหมู่บ้านอีกครั้ง ซึ่งยังมีปัญหาในเขต “เทศบาลนครอุดรธานี” การค้นหาทำได้ไม่ทั้งหมด รับแจ้งข้อมูลคาดว่าจะมีกว่า 30 คน จะต้องเร่งค้นหาคนกลุ่มนี้มาคัดกรอง
พญ.ฤทัย วรรณวินิจ ผอ.รพ.ศูนย์อุดรธานี กล่าวว่า รพ.ศูนย์อุดรธานี ไม่ใช่เพียงรับผู้ป่วยมารักษา ยังเป็นช่องทางให้คำปรึกษา มีคนที่กรุงเทพฯติดต่อมา ทั้งสอบถาม-ประสานมารักษาที่อุดรฯ เพราะเมื่ออุดรธานี เปิดช่องทาง เผยแพร่หมายเลขโทรศัพท์ ผู้ประสานงานตั้งแต่ระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล หมอในโรงพยาบาลเอง ก็ยินยอมเปิดเบอร์โทรส่วนตัว ซึ่งปกติจะไม่ให้เบอร์โทรฯลักษณะนี้ ก็มีคำปรึกษาเข้ามาที่ รพ.ศูนย์อุดรธานีมาก
“ขณะการตรวจรักษาผู้ป่วยโควิด-19 พบว่ามีอาการรุนแรงมากขึ้น ผู้ป่วยต้องได้รับออกซิเจนมากขึ้น รพ.ศูนย์อุดรธานีได้เพิ่มเตียงออกซิเจน เพื่อรองรับผู้ป่วยจะเพิ่มขึ้น โดยมีความต้องการเครื่องผลิตออกซิเจน แต่ไม่มีเครื่องนี้จำหน่ายเลย จึงสั่งซื้อเครื่องออกซิเจนไฮโฟลว์ (Oxygen High Flow) จำนวน 10 เครื่องๆละ 230,000 บาท ด้วยเงินบริจาคของเครือข่าย ร่วมกับคณะแพทย์-พยาบาล ขณะนี้ได้รับการสนับสนุนแล้ว 7 เครื่อง”
นายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี กล่าวว่า มติคณะกรรมการโรคติดต่ออุดรธานี ในการคัดกรองผู้เดินทางจากพื้นที่เสี่ยงสูง มารับการตรวจหาเชื้อให้ได้ทุกคน รวมไปถึงการกักตัว 14 วันในสถานที่รัฐจัดให้ ที่ตัวเลขวันนี้ใกล้ 3,000 คนแล้ว ทำให้ลดการแพร่เชื้อไปได้มาก โดยยืนยันว่าอุดรฯมีพื้นรับรองรับ ไม่จำกัดมาเท่าไหร่ก็รับได้ เพราะสถานที่มีทั้งระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล และองค์กร ตามศักยภาพของพื้นที่ เมื่อกักตัวไปแล้ว 7 วัน ก็ตรวจหาเชื้อรอบที่สอง ถ้าบ้านผู้ถูกกักตัวมีความพร้อม ก็กลับไปกักตัวที่บ้านๆได้ ภายใต้การดูแลของพื้นที่นั้น ๆ
“ขอบคุณทุกภาคส่วนที่ร่วมกันทำงาน ที่ยังเป็นห่วงขณะนี้ก็คือ จุดอ่อนในพื้นที่เทศบาลนครอุดรธานี ที่องค์กรปกครองท้องถิ่น ตลอดจนเครือข่าย อสม. ยังเข้าไปไม่ถึงกลุ่มที่มาจากพื้นที่เสี่ยงสูง บางส่วนที่ยังไม่ผ่านคัดกรอง จึงต้องช่วยกับรุกมากขึ้น สำหรับการเพิ่มศักยภาพ รพ.ศูนย์อุดรธานี ด้วยการจัดหาเครื่องออกซิเจนไฮโฟลว์ ตอนนี้ได้จำนวนเงินมากแล้ว 7 เครื่อง ที่เหลืออีก 3 เครื่อง ผู้ว่าฯจะเป็นเครือข่ายช่วยจัดหาเพิ่ม”
นายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี กล่าวด้วยว่า สถานการณ์ลักษณะนี้ คงไม่ลดมาตรการอะไรลงมีแต่จะเพิ่มมาตรการมากขึ้น สัปดาห์หน้า คกก.โรคติดต่ออุดรธานี จะต้องพิจารณาการเปิดเรียน เพราะ คกก.เคยมีมติให้หยุดการเรียนในสถานศึกษาถึง 16 ก.ค.64 ขณะนี้ศึกษาธิการจังหวัดกำลังไปเก็บข้อมูลก่อนรวบรวมนำเสนอต่อไป
ภาพ/ข่าว นายกฤษดา จันทร์ดวง ผู้สื่อข่าว จ.อุดรธานี